รู้หรือไม่ มีหลายปัจจัยมากกกกกกกกก..ที่ทำให้ผู้ชายกับผู้หญิงได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่างกัน หากคุณเป็นคนนึงที่กำลังแพลนว่าจะฉีด หรือฉีดไปแล้วและมีอาการต่าง ๆ มากมายจนอยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไร วันนี้ Tough & Tumble จะมาเฉลย พร้อมไขข้อสงสัยให้ว่าทำไมร่างกายของผู้หญิงกับผู้ชายถึงมีผลข้างเคียงต่างกัน
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่เหมือนกัน
นักวิจัยออกมาบอกว่า ระบบภูมิคุ้มกันของผู้หญิงสร้าง Antibodi หรือสารภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อได้มากกว่าผู้ชายเท่าตัว! เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนโรคไข้เหลือง พิษสุนัขบ้า หรือโรคอะไรก็ตาม ผู้หญิงจะได้รับผลข้างเคียงมากกว่าผู้ชายเป็นปกติอยู่แล้ว นี่อาจเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้ชายหลาย ๆ คนกล้าไปฉีดวัคซีนมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็อาจจะไม่ได้รับผลข้างเคียงที่กำลังเป็นกระแสข่าวถาโถมอยู่ในตอนนี้ แต่อย่าลืมไปว่านั่นเป็นแค่ข้อสรุปจากงานวิจัยโดยคนส่วนใหญ่ในเมริกาเท่านั้น คุณต้องเอาข้อมูลนี้ไปชั่งใจดูอีกทีว่าจะตัดสินใจยังไง แต่การเห็นผลข้างเคียงก็ไม่ได้มีแค่ข้อเสียอย่างเดียวรู้ยัง เพราะมันทำให้เห็นอีกด้วยว่าวัคซีนที่ฉีดไปกำลังทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและมีโอกาสได้ผลมากขึ้น นั่นเลยทำให้ใครหลาย ๆ คนอาจจะอยากเห็น Side Effects เบา ๆ อยู่บ้างก็ได้
ฮอร์โมนก็มีส่วน
ฮอร์โมนเพศอย่างพวกเอสโตรเจน โปรเจสโตโรน(ฮอร์โมนเพศหญิง) และเทสโทสเตอร์โรน(ฮอร์โมนเพศชาย) มีผลกับวัคซีนหมดบอกเลย ยกตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนในผู้ชายจะมีสารกดภูมิคุ้มกันอยู่ ทำให้วัคซีนได้ผลน้อยลงกับคนที่มีฮอร์โมนตัวนี้เยอะ และฮอร์โมนนี้ก็ยังไปยับยั้งการสร้างเคมีที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันอีก นั่นเลยอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงเท่าไหร่หลังจากฉีด
โครโมโซมก็ยังเกี่ยว
ยีนที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่จะอยู่บนโครโมโซมเอ็กซ์ และผู้หญิงมีโครโมโซมเอ็กซ์ 2 ตัวแต่ผู้ชายมีแค่ตัวเดียว เลยทำให้ผู้ชายได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนน้อยกว่าเพราะมีตัวทำปฏิกิริยาน้อยกว่าผู้หญิง แต่นั่นก็หมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะต่ำกว่าด้วย ยังไม่หมดแค่นั้น 80% ของผู้หญิงจะสร้างภูมิคุ้มกันเองโดยอัตโนมัติเวลามีวัคซีนหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เลยยิ่งทำให้เห็นผลข้างเคียงชัดในทันที
ปริมาณวัคซีนก็มีผล
ผู้ชายจะรับวัคซีนได้มากกว่า เพราะร่างกายของผู้ชายไม่ได้ดูดซึมและเผาผลาญยาต่าง ๆ มากเท่าผู้หญิง เลยทำให้เวลาที่ได้รับยาหรือวัคซีนอะไรเข้าไปจะไม่ได้มีเอฟเฟคที่ชัดเจนและรุนแรง แต่ก็มีวิจัยออกมาบอกว่า 16% ของผู้ชายที่ฉีด Pfizer หรือ BioNtech เข้าไปจะผลิตสเปิร์มได้น้อยลงชั่วคราว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไงก็ดีกว่าการติดโควิดแน่นอน
รู้อย่างงี้แล้วก็เตรียมตัวให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีน COVID 19 กันดีกว่าจะได้ไม่แพนิคจนเกินไป หวังว่าข้อมูลที่เราจัดมาให้ในวันนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดี เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ขอให้ปลอดภัย ห่างไกลโควิดไปด้วยกัน ก่อนไปขอฝากคำคมไว้สั้น ๆ ว่า "อดีตเป็นไงไม่สำคัญ ปัจจุบันไม่ติด COVID ก็เป็นพอ" ฮ่า ๆ
Written by: Nat Saranya
Source: The New York Times , ASRM